ads 728x90

คาร์ซีท ป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์ได้อย่างไร และจะป้องกันได้อย่างไร

วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อุบัติเหตุเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของคนไทยรองจากโรคมะเร็ง คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละประมาณ 4 หมื่นคน แต่สำหรับในเด็ก อุบัติเหตุเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 จากข้อมูลของ “คณะกรรมการป้องกันอุบัติเหตุแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2542 มีเด็กไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 3,000-4,000 คน โดยสาเหตุอันดับ 1 มาจากการจมน้ำปีละประมาณ 1,400 คน และอันดับ 2 คืออุบัติเหตุจราจร ปีละ 900-1,200 คน โดยอุบัติเหตุจราจร หรือจากยานยนต์เกิดในเด็กและเยาวชนถึงร้อยละ 25-30 และตัวเลขการเสียชีวิตดังกล่าว ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี เนื่องจากความเจริญและการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้การใช้ยวดยานพาหนะในการเดินทางมีมากขึ้น

การบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ สามารถลดลง และป้องกันได้ด้วยการสวมหมวกกันน็อก หรือหมวกนิรภัย ขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ และการคาดเข็มขัดนิรภัย ขณะโดยสารในรถยนต์

การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์เกิดได้อย่างไร และจะป้องกันได้อย่างไร
ขณะที่เกิดการชนกันของยานพาหนะกับยานพาหนะอื่น หรือต้นไม้ หรือเสาไฟฟ้าข้างทาง รถยนต์ที่วิ่งมาด้วยความเร็ว เมื่อมีการชนเกิดขึ้น ความเร็วจะลดลงทันทีทันใด แต่ผู้โดยสารที่อยู่ในรถนั้น ยังคงมีความเร็วเท่าเดิม จึงเกิดการกระแทกกับตัวรถ กระจก หรือกระเด็นออกมา แล้วทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้
นั่นคือเหตุผลที่เราต้องคาด เข็มขัดนิรภัย (seatbelt) เพราะเข็มขัดนิรภัย จะทำหน้าที่ยึดตัวผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารให้ติดกับที่นั่ง ทำให้ส่วนของร่างกายไม่ไปกระแทกกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ซึ่งสามารถลดการบาดเจ็บที่รุนแรง และเสียชีวิตได้อย่างน้อยร้อยละ 50 รวมทั้งการมีถุงลมนิรภัย (air bag) ก็ช่วยเสริมความปลอดภัยได้มากขึ้นอีก แต่เข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ออกแบบมาพอดีกับผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็ก  เพราะเข็มขัดนิรภัยจะต้องพาดจากไหล่ ผ่านทรวงอก มาที่บริเวณกระดูกเชิงกรานของผู้ใหญ่ สำหรับเด็กซึ่งมีขนาดร่างกายที่เล็กกว่า เข็มขัดนิรภัยจึงไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่สามารถยึดเด็กไว้กับที่นั่งได้  นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กต้องเสี่ยงอันตรายเป็นอย่างมากในขณะที่โดยสารในรถยนต์ การป้องกันการบาดเจ็บจากการโดยสารในรถยนต์ของเด็ก จึงต้องใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ นั่นคือ คาร์ซีท ที่นั่งสำหรับเด็ก หรือที่เรียกกันว่า คาร์ซีท ( child car seat ) ซึ่งมาพร้อมกับระบบเข็มขัดที่ยึดติดกับที่นั่ง อันเป็นนวัตกรรมที่สามารถลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตในเด็กได้อย่างน้อยร้อยละ 50-70 เลยทีเดียว ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมัน และประเทศในยุโรปอื่น ๆ จึงได้มีคำแนะนำการใช้ และมีกฎหมายบังคับให้ใช้ car seat สำหรับเด็กมานานนับสิบปีแล้ว
อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่มีกฎหมายในเรื่องนี้ เพราะอยู่ระหว่างการพัฒนาขึ้น แต่แพทย์ผู้ดูแลเรื่องอุบัติเหตุในเด็ก ก็ยังแนะนำให้ใช้ พ่อแม่ และผู้ปกครอง จึงไม่ควรมองข้ามความสำคัญในเรื่องนี้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีกฎหมายออกมาก่อน
คำแนะนำในการเลือกที่นั่งสำหรับเด็กในรถยนต์
สำหรับคำแนะนำในการเลือกลักษณะของ car seat ที่เหมาะสมมีดังนี้
1. คาร์ซีท สำหรับเด็กแรกเกิด ถึงอายุ 6-9 เดือน หรือ น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม : ใช้ที่นั่งสำหรับทารก แบบ lay-flat travel infant seat

2. คาร์ซีท สำหรับเด็กแรกเกิด ถึงอายุ 12-15 เดือน หรือน้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม : อาจใช้ที่นั่งสำหรับทารกที่ใช้สำหรับเด็กเล็กได้ด้วย แต่ต้องติดตั้งบนเบาะหลังและหันไปด้านหลัง แบบ rearward-facing baby seat

3. คาร์ซีท สำหรับเด็กอายุ 9 เดือน ถึง 4 ปี หรือน้ำหนักระหว่าง 9-18 กิโลกรัม : ใช้ที่นั่งสำหรับเด็กเล็กแบบ forward-facing child seat ได้

4. คาร์ซีท สำหรับเด็กอายุ 4-6 ปี หรือน้ำหนักระหว่าง 15-25 กิโลกรัม : ใช้แบบ booster seat

5. คาร์ซีท สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี หรือน้ำหนักระหว่าง 22-36 กิโลกรัม : ใช้แบบ booster cushion

นอกจากการเลือกแบบที่เหมาะสมแล้ว การติดตั้งก็ต้องเหมาะสมด้วย โดยต้องติดตั้งที่เบาะหลังเท่านั้น ไม่ใช่เบาะนั่งด้านหน้าข้างคนขับ เพื่อป้องกันอันตรายจากถุงลมนิรภัย
สุดท้ายนี้ ขอให้พ่อ แม่ และผู้ปกครองได้คำนึงอยู่เสมอว่า การเดินทางโดยรถยนต์ของเด็กที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมนั้น ไม่ปลอดภัยสำหรับบุตรหลานของท่าน และเมื่อเกิดอุบัติเหตุ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะการเดินทางโดยให้เด็กนั่งตักผู้ใหญ่ หรือผู้ใหญ่อุ้มเด็กไว้ ที่เราปฏิบัติกันทั่วไปในประเทศไทยนั้น มีอันตรายมาก หากเกิดอุบัติเหตุ ตัวเด็กจะถูกกระแทกทั้งจากของแข็งหรือตัวรถที่อยู่ข้างหน้า และตัวคนที่อุ้มเด็กนั้นเอง ทางเดียวที่จะช่วยเด็กให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นได้คือ การใช้ คาร์ซีท child car seat หรือ ที่นั่งสำหรับเด็ก ที่เหมาะสมเท่านั้น


britaxthailand.com
 

Most Reading