ads 728x90

หยุดกังวลใจเรื่องแผลผ่าคลอด

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

ที่มา mothersdigest.in.th





เพราะคุณแม่หลังผ่าตัดคลอดลูกน้อยส่วนใหญ่มักมี ปัญหาและข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลแผลผ่าตัดคลอด มาถามคุณหมอ เช่น ความกังวลใจเรื่องแผลติดเชื้อ การดูแลไม่ให้แผลถูกน้ำเจ็บปวดแผลเมื่อเคลื่อนไหว ตลอดจนไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นที่ไม่น่าดู วันนี้เราจึงเชิญสูติ-นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาตอบคำถามให้ค่ะ





Q : การดูแลแผลผ่าตัดคลอดที่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร ?



A : คุณแม่ที่มีแผลผ่าคลอดจำเป็นจะต้องรอให้แผลแห้งและติดสนิท ประมาณ 5-7 วัน คุณแม่จึงไม่สามารถอาบน้ำได้ รวมทั้งอาจต้องมีการเช็ดล้างแผล เปลี่ยนพลาสเตอร์หรือผ้าปิดแผลบ่อยๆ ส่วนแผลผ่าตัดที่ใช้กาวปิดแผล ซึ่งเริ่มใช้กันในปัจจุบันนั้น คุณแม่จะสามารถอาบน้ำได้ทันทีหลังปิดแผล และไม่ต้องล้างแผล โดยเมื่อผิวหนังชั้นนอกมีการผลัดผิว กาวปิดแผล และผิวหนังกำพร้า ชั้นนอกก็จะเกิดการหลุดลอกเองภายหลัง วันที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงที่แผลจะติดสนิทกันดีแล้ว นอกจากนี้ คุณแม่ไม่ควรยกของหัก ไม่ยืดเหยียดแผลมาก จนทำให้แผลถูกรั้งตึงเกินไป ซึ่ง รพ. ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีทางเลือกในการดูแลแผลมาแนะนำให้แก่คุณแม่มากขึ้น





Q : ปัจจัยที่มีผลทำให้แผลผ่าตัดคลอดสวย ?



A : แผลผ่าตัดคลอดจะสวยหรือไม่เป็นแผลเป็น เกิดได้จากปัจจับหลายอย่าง เช่น ตำแหน่งของแผล ผ่าตัดคลอด การเย็บแผลของคุณหมอ ลักษณะผิวหนัง และวัสดุปิดแผล หรือประเภทของไหมที่ใช้ในการเย็บแผล ส่วนการใช้กาวปิดแผล จะช่วยยึดขอบแผลเข้าหากันได้ดี และลดแรงตึงเวลาเคลื่อนไหว มีส่วนช่วยให้เกิดผลแผลเป็นได้น้อยลง





Q : สาเหตุของการที่แผลติดเชื้อ และอาการคันเป็นผื่นแดงรอบแผลผ่าคลอด ?



A : แผลผ่าตัดคลอดที่ติดเชื้อ มักเกิดจากการดูแลแผลที่ไม่ถูกต้อง เช่น แผลถูกน้ำ แผลเกิดความ หรือมีเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล คุณแม่จึงควร เปลี่ยนพลาสเตอร์ หรือผ้าปิดแผล เมื่อสกปรกหรือเริ่มมีการหลุดลอกในส่วนของอาการคัน หรือเป็นผื่นแดงรอบแผล ส่วนใหญ่มักเกิดจากการแพ้ พลาสเตอร์ จนทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง


คลอดธรรมชาติเจ็บน้อยกว่าคลอดแบบผ่าตัด

ที่มา mothersdigest.in.th

“คลอดธรรมชาติ” เจ็บน้อยกว่าคลอดแบบผ่าตัดจริงหรือ?





เชื่อว่าคุณแม่ทุกคน พอใกล้ถึงวันใกล้คลอดทีไรเป็นต้องกังวลนั่นกังวลนี่กันทั้งนั้น โดยเฉพาะการคลอดธรรมชาติ  มักมีคนพูดให้ได้ยินแตกต่างกันเสมอว่า คลอดธรรมชาติไม่เจ็บ กับคลอดธรรมชาติเจ็บ ทำให้เกิดความสงสัย และส่งผลให้คุณแม่ที่ใกล้คลอดเริ่มกังวลกันแทบทั้งนั้น





การคลอดธรรมชาติ ที่ผ่านช่องคลอด



นี่เป็นการคลอดที่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ และทารกต้องอยู่ในท่าเอาศีรษะลงเข้าสู่เชิงกราน  โดยการคลอดแบบธรรมชาตินี้ จะส่งผลดีกับคุณแม่และทารกมากกว่าการผ่าตัดคลอด และแน่นอนว่าขณะที่กำลังรอคลอด คุณแม่ทุกคนคงจะมีความรู้สึกกังวลและกลัวการเจ็บครรภ์เป็นที่สุด ซึ่งทางการแพทย์อาจจะมีวิธีบรรเทาความเจ็บปวดด้วยการใช้ยาแก้ปวด และอีกวิธีก็คือการบล็อกหลัง ซึ่งการบล็อกหลังต้องดูความเหมาะสมและความสมัครใจของคุณแม่เป็นรายๆ ไป และจะมีการปรับระดับยาที่จะลดความเจ็บปวดให้เหมาะสมกับคุณแม่ จนกระทั่งปากมดลูกเปิดหมอ 10 เซนติเมตร คุณแม่ก็ยังสามารถมีแรงเบ่งคลอดบุตรได้ ถ้าเป็นการคลอดครั้งแรก แล้วทารกมีขนาดตัวที่ค่อนข้างใหญ่ แต่คุณแม่ค่อนข้างมีรูปร่างที่ตัวเล็ก ก็อาจทำให้คุรแม่เจ็บครรภ์คลอดที่ค่อนข้างมาก อีกทั้งการที่ไม่ตัดแผลฝีเย็บเพื่อขยายช่องทางคลอด ก็อาจจะทำให้เกิดแผลฉีกขาด และเป็นอันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียงได้เช่นกัน





การคลอดจะอยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมน 3 ชนิด ซึ่งจะหลั่งมาจากต่อมใต้สมอง ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนแห่งความรัก ที่จะช่วยสร้างความอบอุ่น ความรัก ความผูกพัน ระหว่างแม่กับลูก ฮอร์โมนที่ช่วยให้กล้ามเนื้อเต้านมบีบตัวเพื่อหลั่งน้ำนม และฮอร์โมนที่ทำให้มีความสุข ซึ่งจะหลั่งขณะปวดคลอด และด้วยสัญชาตญาณของทารก เขาสามารถรับรู้ถึงสายสัมพันธ์แม่ ลูก ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับอาการเจ็บเบ่งของแม่ ความรู้สึกรี้คุณแม่อาจหยั่งรู้ไม่ถึง แต่ลูกของคุณแม่รับรู้ได้ตามเส้นทางที่ธรรมชาติได้กำหนดไว้





เจ็บจริง หรือเจ็บหลอก



• การเจ็บครรภ์ในคุณแม่ใกล้คลอดนั้น จะมีอาการปวดร่วมกันพร้อมกับมีการหดรัดตัวของมดลูก ที่เป็นการปวดเหมือนกับการปวดประจำเดือน แต่การปวดท้องคลอดจะเป็นการเจ็บปวดที่บริเวณมดลูกทั้งหมด ความปวดจะมีระดับความรุนแรง(severity) ที่เพิ่มขึ้นๆ และช่วงเวลาของการปวดแต่ละครั้ง(Interval) จะสั้นลงๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเจ็บทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ก็เปลี่ยนเป็นเจ็บทุกๆ 30 นาที





• ความเจ็บปวดจากการที่มดลูกหดรัดตัว จะมีระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งที่นานขึ้นเรื่อยๆ จาก 10 วินาที เป็น 20 วินาที เป็น 40 วินาที และเมื่อคุณแม่เจ็บครรภ์คลอดจริงขึ้นมา การคลอดก็จะดำเนินต่อไปจนกระทั่งทารกคลอดเสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อทารกได้คลอดออกมา และส่งเสียงร้องขึ้นนั่นเอง





• อาการเจ็บปวดครรภ์ไม่สม่ำเสมอ เจ็บที่มีการทิ้งระยะห่างออกไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งมดลูกมีการหดรัดตัวเบาๆ ไม่รุนแรง จนกระทั่งการเจ็บปวดหยุดลง อาการนี้มักเรียกกันว่าการเจ็บครรภ์หลอก (False Labor)





Steps การเจ็บครรภ์คลอดในแบบวิถีธรรมชาติ



ระยะที่ 1 ของการคลอด First Stage of Labor  เป็นการเริ่มเจ็บครรภ์จริงจนถึงปากมดลูกเปิดหมด โดยแบ่งย่อยออกเป็น 3 ระยะ



• Early Labor เริ่มตั้งแต่ปากมดลูกยังปิดอยู่ จนกระทั่งปากมดลูกเปิดได้ 4 เซนติเมตร ก็จะมีการหดรัดตัวของมดลูก ทุกๆ 5-30 นาที เป็นระยะเวลาประมาณ 15-40 วินาที คุณแม่ที่เจ็บคลอดจะมีอาการปวดแบบปวดตะคริว มีอาการปวดหลังร่วมด้วย





• Accelerated Labor มีการหดรัดตัวของมดลูกทุกๆ 2-3 นาที เป็นระยะเวลาประมาณ 45-60 วินาที โดยการหดรัดตัวจะแรงขึ้นในระยะนี้ สารเอนเดอร์ฟินจะเริ่มหลั่งออกมาเพื่อช่วยให้ผู้คลอดสามารถดำเนินการคลอดต่อไปได้ พฤติกรรมของผู้คลอดจะเริ่มเปลี่ยนไปโดยจะเงียบลง ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะนั่งหรือนอนอยู่กับที่ หลับตาลง อาการแสดงเหล่านี้ได้บอกว่าระดับสารเอนดอร์ฟินในร่างกายของคุณแม่นั้นมีเพียงพอสำหรับความต้องการ และการคลอดก็จะดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ





• Transition ในระยะนี้จะมีการหดรัดตัวของมดลูกทุกๆ 1-3 นาที เป็นระยะเวลา 45-90 วินาที โดยจะหดรัดรุนแรงที่สุด และจะทำให้คุณแม่เจ็บปวดมาก ร่วมทั้งร่างกายจะมีการสร้างสารเอนเดอร์ฟินจะสูงที่สุดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้สามารถทนต่อความเจ็บปวดและทำให้ผู้คลอดมุ่งสนใจแต่ภายในตัวของผู้คลอด(Focus Inwardly) คุณแม่จะมีปฏิกิริยาในการหายใจที่ถี่และเร็วขึ้นจากการปวด ในคุณแม่บางรายอาจร้องครวญครางออกมาได้ หรือร้องขอยาแก้ปวด หรือขอให้ผ่าตัด ซึ่งหากผู้ดูแลรู้หลักการดังกล่าวแล้วก็จะช่วยประคับประคองให้การคลอดดำเนินไปสู่ระยะที่ 2 ของการคลอดโดยปราศจากการแทรกแซงที่ไม่จำเป็น เนื่องจากอาการทั้งหมดนี้เป็นผลของสารเอนเดอร์ฟิน ซึ่งช่วยให้คุณแม่สามารถลืมอาการเจ็บปวดหลังคลอดแล้ว และยังช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก(Bonding) หลังคลอด ในระยะนี้มดลูกกำลังเปลี่ยนสถานะของการกระทำจากการขยายปากมดลูก เป็นการผลักดันทารกผ่านช่องทางคลอด ซึ่งสามารถจะทราบได้โดยผู้คลอดเริ่มมีความต้องการอยากที่จะเบ่ง





ระยะที่ 2 ของการคลอด Second Stage of Labor



• โดยทั่วไปหลังจากสิ้นสุดระยะที่ 1 ของการคลอดจนถึงความรู้สึกอยากเบ่งคลอดอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก มีระยะเวลาประมาณ 10-30 นาที ซึ่งเป็นระยะพักหลังจากที่ได้ผ่านการเจ็บครรภ์คลอดในระยะที่ 1 หลังจากนั้นจึงมีความรู้สึกอยากเบ่ง ดังนั้นจึงไม่ควรให้ผู้คลอดเบ่งในระยะที่อยู่ในระยะพักดังกล่าว มดลูกในระยะนี้มรการหดรัดตัวทุก 3-5 นาที เป็นระยะเวลาประมาณ 45-70 วินาที ระยะที่ 2 ของการคลอดจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วส่งเสียงร้องแรกนั่นเอง





ฝึกการหายใจเพื่อการคลอด



การหายใจขณะที่กำลังจะคลอดก็มีส่วนทำให้การคลอดผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเช่นกัน ดังนั้นการหายใจหรือการกำหนดลมหายใจเข้าออก จึงมีหลักในการให้คุณแม่ที่ใกล้คลอดได้ไปลองฝึกปฏิบัติกันดูคะ ซึ่งการหายใจจะมีอยู่ 3 ระดับ ดังนี้





• การหายใจ แบบล้างปอด



คือการสูดหายใจเข้าลึกๆ โดยใช้มือข้างหนึ่งวางไว้ที่ท้อง ถ้าหายใจถูกต้อง ท้องจะต้องป่อง จากนั้นก็ให้ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ





• การหายใจ ระดับอก



คือการสูดหายใจ ถึงแค่ระดับอก โดยใช้มืออข้างหนึ่งวางไว้ที่อก ถ้าหายใจถูกต้อง อกจะต้องพองขึ้น จากนั้นก็ให้ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ





• การหายใจ ระดับคอ



คือการสูดหายใจตื้นๆ เร็วๆ โดยหายใจ ถึงแค่ระดับคอ แล้วหายใจออกทางปากถี่ๆ ซึ่งการหายใจแต่ละระดับจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายลง และบรรเทาความเจ็บปวดในระยะต่างๆ ของการคลอดได้





วิธีปฏิบัติขณะคลอด



เมื่อมดลูกเริ่มหดรัดตัว ซึ่งจะมีอาการปวดท้อง ให้หายใจล้างปอด 1 ครั้ง จากนั้นให้หายใจระดับอก นับ 1 2 3 แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปาก นับ 1 2 3 ทำเช่นนี้ 6-9 ครั้งต่อนาที เมื่อมดลูกคลายตัวเต็มที่ ให้หายใจล้างปอดอีก 1 ครั้ง สำหรับการหายใจแบตื่นๆ ถี่ๆ จะใช้ในช่วงที่อยากเบ่ง แต่ปากมดลูกยังไม่เปิดเต็มที่ คุณพยาบาลแนะนำว่า อย่าเพิ่งเบ่ง(เพราะเบ่งยังไง ลูกก็ยังไม่คลอด ควรที่จะเก็บแรงไว้ก่อน) แต่ให้ผ่อนคลายด้วยการหายใจ ตื้นๆ ถี่ๆ โดยหายใจเข้านับ 1 หายใจออกทางปากนับ 2 ทำไปเรื่อยๆ  จนกว่าจะถึงการเบ่งคลอดขั้นสุดท้าย


วิธีดูแลสุขภาพคุณแม่ “คลอดปกติ” กับ “คลอดแบบผ่าตัด”

ที่มา mothersdigest.in.th



คุณแม่แต่ละคนเลือกวิธีการคลอดไม่เหมือนกัน บางคนเลือกคลอดแบบปกติ ขณะที่คุณแม่บางคนเลือกที่จะผ่าคลอด ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับความต้องของแต่ละคน รวมไปถึงขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณแม่แต่ละคนด้วย  ดังนั้นการดูแลสุขภาพของคุณแม่ที่ใช้วิธีคลอดแตกต่างกัน จึงมีเคล็ดลับมีข้อแนะนำที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน





1.กรณีคลอดปกติ หลังคลอดประมาณ 1-2 ชั่วโมง พยาบาลจะตรวจวัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจสังเกตปริมาณเลือดที่ออกทางช่องคลอดและการแข็งตัวของมดลูก มารดาควรได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว อาจทำให้หน้ามืดเป็นลมได้ง่าย คุณแม่ควรที่จะค่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถ และควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด





น้ำคาวปลา คือ เลือดคล้ายประจำเดือนที่ไหลออกทางช่องคลอดในระยะหลังคลอด ซึ่งออกมาจากผนังมดลูกที่ลอกตัวออก  และจะค่อยๆ จางลง ช่วง 3 วันแรก น้ำคาวปลาจะมีสีแดง จากนั้นจะค่อยๆ จางลง กลายเป็นสีชมพูเรื่อๆ ภายใน 14 วัน หลังคลอด และจะหมดลงหลังคลอดไปแล้ว 6 สัปดาห์ สำหรับคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอด น้ำคาวปลาจะจางลงและหมดเร็ว เนื่องจากแพทย์จะช่วยเช็ดทำความสะอาดโพรงมดลูกให้





แผลฝีเย็บ ในระหว่างคลอด แพทย์จะทำการตัดฝีเย็บ เพื่อป้องกันเนื้อเยื่อรอบๆ ปากช่องคลอดยืดขยายมากเกินไปวันแรกหลังคลอดถ้าแผลฝีเย็บมีอาการบวมและเจ็บมาก การได้รับยาพาราเซตามอล จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ การดูแลแผลฝีเย็บอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันอาการอักเสบติดเชื้อได้ ควรทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และซับให้แห้งถ้าน้ำคาวปลาออกมามาก ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ไม่ควรปล่อยให้แฉะอับชื้น ซึ่งจะทำให้มีเชื้อโรคสะสมได้





หน้าท้อง การเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา จะช่วยให้คุณแม่น้ำหนักลดลงเร็วด้วย สีเส้นคล้ำดำที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าท้อง เป็นผลจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ระยะหลังคลอดผิวหนังซึ่งมีสีคล้ำจะจางลงประมาณ 3-4 เดือน ผิวหนังชุดใหม่ที่สร้างขึ้นมาทดแทนเป็นสีปกติ





ช่องคลอด เนื่องจากหูรูดปากช่องคลอดถูกยืดขยายอย่างมากในระหว่างคลอด คุณแม่ควรฝึกขมิบก้น เพื่อบริหารกล้ามเนื้อช่องคลอดจะทำให้อาการดีขึ้น





2.กรณีมารดาผ่าตัดคลอด พยาบาลจะตรวจวัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ สังเกตปริมาณเลือดที่ออกทางช่องคลอด การแข็งตัวของมดลูก เช่นเดียวกับคุณแม่ที่คลอดปกติรวมทั้งปริมาณ สารน้ำที่ร่างกายได้รับและปริมาณปัสสาวะ





วันแรกๆ มารดาที่รับเติมยาแก้ปวดทางสายบริเวณหลังอาจเกิดอาการคันได้ จะมีการให้ยาบรรเทาอาการคัน เช่น คาลามายด์โลชั่น ยาฉีดแก้คัน





• ควรพลิกตัวไปมาบนเตียงเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ลำไส้เริ่มทำงานได้เร็ว



• เมื่อแพทย์อนุญาตให้มารดาจิบน้ำได้ ซึ่งจะผ่านไปประมาณ 24-48 ชั่วโมง แล้วถอดสายน้ำเกลือ สายสวนปัสสาวะ  คุณแม่ควรค่อยๆ จิบน้ำหรืออาหารเหลวใสทีละน้อยบ่อยๆ และลุกเดินเท่าที่ทำได้ เพื่อป้องกันอาการท้องอืดซึ่งจะทำให้ปวดแผลเพิ่มขึ้น



• การเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ควรทำช้าๆ เช่นเดียวกับการคลอดปกติ



• อาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ/มีไข้/เจ็บแผลมากผิดปกติควร แจ้งให้แพทย์ พยาบาลทราบเพื่อดูแลรักษา





แผลผ่าตัด ระยะแผลกำลังหาย ถ้ามีอาการคันไม่ควรเกา เพราะจะทำให้แผลนูนหนาเป็นแผลได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการใส่กางเกงชั้นในประเภทบิกินี่ตัวเล็กๆ เพราะขอบยางยืดจะกดเสียดสีที่รอยแผล ควรใส่กางเกงชั้นในตัวใหญ่แผลผ่าจะแห้งติดสนิทในเวลาประมาณ 7-10 วัน





การปฏิบัติตัวระยะหลังคลอด ระยะหลังคลอดที่บ้าน



1.การรักษาความสะอาด คุณแม่ที่คลอดปกติสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ และควรทำความสะอาดแผลฝีเย็บด้วยสบู่และน้ำสะอาดใช้น้ำอุ่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บบริเวณแผล และเป็นการกระตุ้นให้มีการไหลเวียนโลหิตส่งเสริมให้แผลหายได้ ซับให้แห้งและเปลี่ยนผ้าอนามัย ทุก 3-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก



2.อาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ควรเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ นมอย่างน้อยวันละ 2-3 แก้ว เนื้อสัตว์ต่างๆ รวมทั้งผัก ผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน แป้ง ของหวาน เพราะจะทำให้คุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ควรงดอาหารรสจัด ของหมักดอง น้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ยาขับน้ำคาวปลาหรือยาดองเหล้า



3.การพักผ่อน ควรพักผ่อนนอนหลับช่วงกลางคืน 6-8 ชั่วโมง และ 1/2 -1 ชั่วโมง ในเวลากลางวัน ภายหลังคลอด 6 สัปดาห์ ไม่ควรทำงานหนัก เช่น การยก แบกหาม ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออวัยวะในอุ้งเชิงกรานและแผลฝีเย็บ



4.กิจวัตรประจำวัน ควรมีการบริหารร่างกายเพื่อให้กระปรี้กระเปร่าสดชื่นอยู่เสมอ อาบน้ำสระผมตามปกติ ควรอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก



5.การมีเพศสัมพันธ์ ควรมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ หลังคลอดไปแล้ว 6 สัปดาห์ ไข่จะเริ่มตก ดังนั้นจึงควรคุมกำเนิด แพทย์จะนัดมาตรวจและแนะนำวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม



6.อาการผิดปกติที่ต้องมาโรงพยาบาล มีไข้ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว  เต้านมหรือฝีเย็บอักเสบ น้ำคาวปลามีกลิ่นผิดปกติหรือมีสีแดงสดมีปริมาณมากขึ้น ระดูมีกลิ่นและคัน ปัสสาวะแสบขัด



7.การตรวจหลังคลอด เป็นการตรวจร่างกายทั่วไป หลังคลอด



8.อุปกรณ์ติดตัวกลับบ้าน ผ้ารัดหน้าท้องใส่เพื่อพยุงหน้าท้องเวลาเคลื่อนไหว ไม่จำเป็นต้องใส่ตลอดเวลา สามารถถอดซักได้ ควรใส่บริเวณช่วงสะโพกบนเวลานอนกลางคืนให้ถอดออก

เริ่มนับเวลาที่จะได้พบหน้าลูกแม่

ที่มา mothersdigest.in.th

เริ่มนับเวลาที่จะได้พบหน้าลูกแม่


ใกล้แล้วใกล้แล้วใกล้ถึงเวลาที่จะได้พบหน้ากับแก้วตาดวงใจแล้ว นาทีแห่งความสุขกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้คุณแม่มือใหม่กันแล้ว ไม่รู้ว่าคุณแม่ได้จูงมือคุณพ่อพากันไปเลือกซื้อเตรียมข้าวของเครื่องใช้ไว้ให้เจ้าตัวเล็กกันแล้วบ้างหรือยังเอ่ย อยากกระซิบบอกว่า ถ้ามีเวลาก็เตรียมๆ กันไว้บ้างนะคะ พอถึงเวลาลูกคลอดออกมาแล้วเดี๋ยวจะไม่มีเวลาปลีกตัวไปเตรียมได้นะคะ มีคุณแม่ท้องหลายคนที่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเซ็กซ์ระหว่างตั้งครรภ์ เราจึงมีข้อมูลดีดีมานำเสนอให้ได้ทราบกันคะ


ข้อจำกัดในการร่วมรักระหว่างตั้งครรภ์ที่สำคัญได้แก่

• ระหว่าง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ในหญิงที่มีประวัติการแท้งมาก่อน หรือในรายที่มีความเสี่ยงต่อการแท้ง หรือมีอาการที่เป็นสัญญาณของการแท้ง

• ระหว่าง 8-12 สัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอดในรายที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด หรือมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด หรือมีสัญญาณการคลอดก่อนกำหนด

• ถ้าเนื้อเยื่อของถุงน้ำคร่ำปริหรือแตก

• กรณีมีลูกแฝด ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์เลย

ยาป้องกัน การคลอดก่อนกำหนด

ยาป้องกัน การคลอดก่อนกำหนด


ปกติแล้วคนเราตั้งครรภ์ครบกำหนดเมื่ออายุครรภ์ 40 สัปดาห์ หากคลอดในระหว่าง 37-42 สัปดาห์ยังถือว่ายังอยู่ในช่วงที่ทารกจะมีสุขภาพแข็งแรงดี หากเลยกำหนดคลอด 42 สัปดาห์ขึ้นไป รกจะมีการเสื่อมสภาพ ไม่สามารถส่งอาหารให้ทารกอย่างพอเพียง คุณหมอก็จะพิจารณาช่วยเร่งการคลอด หรือผ่าตัดคลอดให้แล้วแต่กรณี ส่วนการคลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์เต็ม จะถือเป็นการคลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากๆ จะยังไม่มีความสมบูรณ์ของร่างกายมากพอที่จะอยู่ภายนอกร่างกายของแม่ได้ จะต้องทำการช่วยเหลือในการปรับสิ่งแวดล้อม ให้ทารกสามารถปรับตัวและเจริญเติบโตต่อภายนอกครรภ์มารดาได้ เช่นให้ทารกอยู่ในตู้อบที่มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส อาจต้องให้นมหรือสารอาหารต่างๆทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร หรือให้สารอาหารทางเส้นเลือด อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหากปอดของทารกยังไม่สมบูรณ์ดี เป็นต้น ซึ่งการที่ต้องเลี้ยงดูทารกใน NICU ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีคุณแม่คนไหนอยากจะให้เป็น ทุกคนอยากให้เด็กคลอดออกมาสมบูรณ์แข็งแรงทั้งนั้น แต่บางครั้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาชีวิตของทั้งคุณแม่และทารก ก็อาจจำเป็นต้องให้คลอดก่อนกำหนด


เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์และยังไม่ครบกำหนด แต่เริ่มมีอาการว่าจะคลอดก่อนกำหนด คุณหมอก็มักให้การรักษา เพื่อประคับประคอง และยืดเวลาออกใปให้ทารกสามารถเจริญเติบโต ในครรภ์คุณแม่ได้นานที่สุด หรือจนครบกำหนดได้ก็จะยิ่งดี แต่การรักษานั้นก็เป็นการดูแลเมื่อปลายเหตุแล้วนะครับ การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด สามารถทำได้โดยการฝากครรภ์อย่างใกล้ชิด และการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมของคุณแม่ด้วย แต่แม้ว่าจะดูแลเป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้จากปัจจัยอื่นๆที่เราควบคุมไม่ได้ครับ


เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับรองยาชนิดหนึ่งซึ่งสามารถช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้เป็นครั้งแรก ชื่อว่า Makena (hydroxyprogesterone caproate) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งสงผลต่อสุขภาพของทารกแรกเกิดมากมายหลายประการ รวมถึงโอกาสรอดชีวิตของทารกด้วย


ยาชนิดนี้ถูกนำมาใช้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะในผู้ที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด มาก่อนโดยการตั้งครรภ์ทารกคนเดียว ซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดซ้ำได้อีก  และต้องเป็นการตั้งครรภ์ทารกคนเดียวเท่านั้น เนื่องจากการตั้งครรภ์แฝดมีหลายสาเหตุที่จะส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด


โดยที่ยา Makena ได้ผ่านการศึกษาและทดลองทางคลินิก ในหญิงตั้งครรภ์ 463 ราย อายุตั้งแต่ 16 - 43 ปี ซึ่งเคยตั้งครรภ์ทารกคนเดียวและมีการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน ในกลุ่มทดลอง หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับยาป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เกิดการคลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ร้อยละ 37 ในขณะที่หญิงตั้งครรภ์กลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับยาป้องกัน เกิดการคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 55


ในการศึกษาระยะที่ 2 ได้ทำการประเมินพัฒนาการของทารกที่เกิดจากมารดาในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมดังกล่าว ซึ่งพบว่าเมื่อเด็กแรกเกิดอายุ 2.5- 5 ขวบ ทั้งสองกลุ่มมีพัฒนาการไม่แตกต่างกัน และจะมีการติดตามศึกษาต่อไปในระยะที่ 3 ตามแผนการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2018


ยา Makena นั้นสามารถให้โดยการฉีดเข้าไปบริเวณสะโพกสัปดาห์ละครั้ง เริ่มฉีดเมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ และไม่ควรเริ่มหลังจาก 21 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ และจะสิ้นสุดการฉีดยาเมื่ออายุครรภ์ 37 สัปดาห์ อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ ได้แก่ ความเจ็บปวด บวม และคัน บริเวณที่ฉีดยา อาจมีคลื่นใส้และท้องเสียได้ด้วย


สำหรับในประเทศไทย สถิติคลอดก่อนกำหนดมีจำนวน 64,000-80,000 คน/ปี ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว จึงถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องดูแลแก้ไข กลุ่มมารดาที่มีภาวะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ได้แก่

• หญิงตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี

• มีประวัติดื่มอัลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์

• ตั้งครรภ์แฝด มีปัญหารกเกาะต่ำ หรือมีความผิดปกติของมดลูก เช่น มีเนื้องอกที่มดลูกหรือปากมดลูกผิดปกติ ฯลฯ

• มีโรคประจำตัวเช่น โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์

• มีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน มีโอกาสเป็นซ้ำ

• มีประวัติแท้งบุตรมาก่อน


คุณแม่สามารถช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด โดยมาฝากครรภ์แต่เนิ่นๆเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ไปตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอนัดนัด และทำตามคำแนะนำของหมออย่างเคร่งครัด  รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ผักผลไม้สด และรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ  ไม่บริโภคแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ก็ช่วยลดโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้มาก และยังส่งผลให้คุณแม่และทารกมีสุขภาพแข็งแรงดีอีกด้วยครับ

เริม VS คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์

วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

เริม เป็นโรคติดต่อที่ติดง่ายจากสารคัดหลั่งทั้งทางน้ำลาย และการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนั้นไวรัสเริมยังมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 30 – 180 วัน บ่อยครั้งที่คุณแม่อาจจะไม่ทราบว่าตนเองได้รับเชื้อเริม (เพราะยังไม่แสดงอาการ) หากแม่เป็นเริมในขณะตั้งครรภ์จะมีผลต่อทารกในครรภ์อย่างไรบ้าง รวมถึงหากได้รับเชื้ออื่นๆ จะเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาฝากค่ะ


โดยปกติภูมิคุ้มกันจากแม่จะส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ ดังนั้นหากคุณแม่เป็นเริม ทารกในครรภ์จะมีโอกาสติดเชื้อในอัตรา 1 ใน 20,000 หรือแม่ที่ติดเชื้อเริมก่อนคลอดเพียงเล็กน้อย โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อเริมจะมีประมาณ 25 – 40%

วิธีป้องกันทารกติดเชื้อเริมก็คือ การตรวจหาโรคเริมในแม่ก่อนคลอด หากพบเชื้อเริม คุณหมอจะทำคลอดโดยวิธีผ่าตัด แต่ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อเริมมีราคาแพงมาก จึงไม่แนะนำวิธีนี้นอกจากตัวคุณแม่เองเคยมีประวัติการติดเชื้อเริมที่บริเวณช่องคลอดมาก่อน

ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ แพทย์จะต้องวินิจฉัยเป็นกรณีไป ดังนี้
โรคหนองใน หากทารกติดเชื้ออาจทำให้ตาบอดได้ คุณแม่จะต้องรักษาให้หายขาดก่อนเริ่มตั้งครรภ์ และทารกแรกเกิดทุกคนจะได้รับการหยอดยาหรือป้ายยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหนองในจากการคลอด
โรคซิฟิลิส มีผลกระทบต่อระบบกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ มีการทำลายเนื้อเยื่อระบบประสาทส่วนกลาง อาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นในการฝากครรภ์จะมีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อนี้ทุกคน เพราะโรคนี้อาจไม่มีอาการปรากฏ และหากพบเชื้อนี้ จะต้องรักษาให้หายก่อนอายุครรภ์ครบ 4 เดือน
โรคติดเชื้อคลาไมเดีย ทารกที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการตาอักเสบอย่างรุนแรง รักษาโดยการใช้ยาป้ายตาที่มียาปฏิชีวนะต่อต้านเชื้อนี้โดยเฉพาะ
โรคเอดส์ ทารกในครรภ์มีโอกาสติดเชื้อ 20-65% และจะแสดงภาวะการเป็นโรคหลังจากคลอดได้ 6 เดือน และตัวคุณแม่เองจะมีสุขภาพที่แย่ลงหลังคลอด ดังนั้นจะต้องทดสอบการติดเชื้ออย่างระมัดระวัง และควรตรวจสอบซ้ำ 2 ครั้งเพื่อให้ผลแน่นอน

ขอบคุณที่มา babytrick.com

ถ้าตั้งครรภ์หลังอายุเกิน 35 ปีจะมีผลกับทารกในครรภ์อย่างไร

โดยปกติผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่ดีคือเมื่ออายุประมาณ 23 – 27 ปี แต่ในปัจจุบันที่สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้หญิงแต่งงานช้าลง หรืออาจจะตั้งครรภ์ช้าลง จนบางครั้งกว่าจะเริ่มสร้างครอบครัวก็อายุปาไป 30 – 35 ปี หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินคำที่ว่า พออายุเยอะแล้วจะมีลูกจะลำบาก จะมีอันตราย ฯลฯ จริงๆ แล้วการตั้งครรภ์เมื่ออายุ เกิน 35 ปีนั้นจะมีผลต่อทารกในครรภ์อย่างไรบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลสถิติ รวมถึงคำแนะนำต่างๆ ในการเตรียมตัวมาฝากค่ะ

หากคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ตอนอายุ 30 ปีขึ้นไป ทารกในครรภ์จะมีภาวะเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวะผิดปกติหรือดาวน์ซินโดรม โดยมีสถิติความเสี่ยงที่รวบรวมเกี่ยวกับทารกดังนี้

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุประมาณ 20 ปี ทารกในครรภ์มีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมเพียง 1 ใน 10,000

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุประมาณ 35 ปี ทารกในครรภ์มีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรม 0-3 ใน 1,000 ซึ่งมีโอกาสมากกว่าตอนอายุ 20 ปี

และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ทารกในครรภ์มีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมถึง 1 ใน 100 หรือ 1% เลยทีเดียว

ภาวะดาวน์ซินโดรมเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ที่อายุเกิน 35 ปีจะได้รับการวินิจฉัยนี้ หากพบว่าเกิดความผิดปกติ คู่สมรสจะต้องเป็นผู้เลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อหรือจะยุติการตั้งครรภ์ นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุเกิน 35 ปีมีโอกาสเกิดภาวะความดันสูง เบาหวาน โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด และที่สำคัญคือมีโอกาสแท้งบุตรสูงกว่า แต่หากได้รับการดูแลอย่างดี ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่น่าวิตกกังวลมากนัก นอกจากนี้ว่าที่คุณแม่ควรทำตามคำแนะนำของคุณหมอ ดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสม และบำรุงร่างกายอยู่เสมอ ก็จะแข็งแรงปลอดภัยทั้งแม่และลูกค่ะ

ขอบคุณที่มา babytrick.com

ท้องนอกมดลูก ป้องกันได้

การท้องนอกมดลูกนั้นความจริงแล้วพบได้น้อยมากประมาณร้อยละ 1 ของการตั้งครรภ์เท่านั้น และโดยมากมักจะตรวจพบในระยะต้นๆ ของการตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะมีอาการผิดปกติปรากฏออกมาในระยะต้นๆ ดังนั้นหากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็สามารถสบายใจได้ว่าปลอดภัยจากการท้องนอกมดลูก แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้คุณแม่เกิดการท้องนอกมดลูกได้

ปัจจัยที่จะเสริมที่จะทำให้มีโอกาสท้องนอกมดลูกได้แก่
มีประวัติการท้องนอกมดลูกมาก่อน
เคยเจ็บป่วยด้วยภาวะการอักเสบของอุ้งเชิงกราน
เคยผ่าตัดเกี่ยวกับช่องท้องโดยเฉพาะรังไข่
เคยทำหมัน หรือผ่าตัดแก้ทำหมัน
ใช้วิธีคุมกำเนิดแบบใช้ห่วงอนามัย และตั้งครรภ์ในขณะที่ใช้ห่วง
มีประวัติทำแท้ง
มีประวัติได้รับสาร DES (สารที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง) ในโพรงมดลูก จนทำให้เกิดความผิดปกติของโครงสร้างระบบอวัยวะสืบพันธุ์

อาการที่สังเกตุได้ว่าอาจจะเกิดการท้องนอกมดลูก
อาการบิดเกร็ง และกดเจ็บบริเวณท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่ง แลปวดแผ่กระจายไปทั่วท้องน้อย อาการปวดรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวรุนแรง แล้วค่อยๆ หายไป เหลือแต่การปวดระบมบริเวณอุ้งเชิงกราน
มีเลือดสีน้ำตาลจางๆ ไหลออกทางช่องคลอด อาจมีเลือดสดบ้างเล็กน้อย จะเป็นๆ หายๆ ไม่ต่อเนื่อง เกิดร่วมกับการปวดท้อง แต่บางคนก็อาจไม่มีอาการเลือดออกเลย
มีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างมาก ในกรณีนี้อาจมีการฉีกขาดของท่อนำไข่
อ่อนเพลีย เวียนหัว โดยเฉพาะกรณีที่ท่อนำไข่ฉีกขาดจะอ่อนเพลียมากขึ้น ผิวหนังเย็น ชีพจรเต้นเร้ว และเป็นลม
บางคนมีอาการปวดร้าวที่ไหล่ด้านหลัง หรือบางคนปวดตื้อๆ ที่ทวารหนัก
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันที ซึ่งเมื่อรักษาหายแล้ว ก็สามารถตั้งครรภ์ได้
ขอบคุณที่มา babytrick.com

ทำไมถึงแท้งลูก

ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะวิตกกังวลถึงความปลอดภัยของเด็กทารกในครรภ์รวมถึงกลัวว่าจะเกิดการแท้ง ซึ่งบ่อยครั้งการกังวลในเรื่องเหล่านี้จะทำให้เกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น ซึ่งอัตราการแท้งลูกจะพบเพียงร้อยละ 10 ของการตั้งครรภ์เท่านั้น ซึ่งสาเหตุของการแท้งนั้นมีมากมาย แต่ทั้งหมดนั้นเราสามารถควบคุมและป้องกันการแท้งได้ค่ะ


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแท้งลูกได้แก่

  • เคยมีประวัติการใส่ห่วงอนามัยที่มีภาวะแทรกซ้อน
  • เคยแท้งลูกมาแล้วหลายครั้ง
  • มีความผิดหวัง เศร้าโศก อย่างรุนแรงจากปัญหาการงาน หรือชีวิตส่วนตัว
  • ได้รับอุบัติเหตุโดยตรงและได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
  • ทำงานหนัก การยกของหนัก หรือการเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงมาก รวมถึงการอุ้มเด็กก็อาจจะส่งผลได้เช่นกัน
  • มีเพศสัมพันธ์ในช่วงตั้งครรภ์ และคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีประวัติเคยแท้งบ่อย

อาการที่บ่งบอกว่าเกิดภาวะการแท้งลูก

  • มีอาการปวดท้องน้อย มีเลือดสดออกทางช่องคลอด ไม่ว่าเลือดจะออกมาหรือน้อยเพียงใดก้ตาม ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
  • มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง หรือปวดติดต่อกันหลาวัน
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดเหมือนมีประจำเดือน หรือมีเลือดออกเล็กน้อยติดต่อกันนานเกิน 3 วัน
  • มีสิ่งขับออกทางช่องคลอดเป็นก้อนเลือด หรือชิ้นเนื้อสีชมพู แสดงว่าเริ่มมีอาการแท้งลูก ควรเก็บชิ้นส่วนนั้นแล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะบางครั้งชิ้นส่วนนั้นอาจเป็นตัวอ่อนที่ถูกขับออกมาก็ได้

การดูแลและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการแท้งลูก

  • หากมีประวัติหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการแท้งลูก ควรบอกกับคุณหมอตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ เพื่อให้คุณหมอช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด
  • พยายามอย่าเครียด หรือหาวิธีคลายเครียดอย่างเหมาะสม อาจจะใช้การฟังเพลง, การนวดเพื่อผ่อนคลาย รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หากต้องเจอกับปัญหาต่างๆ ทั้งจากที่ทำงาน หรือจากที่บ้าน ควรที่จะหาเวลาพักผ่อน หรือผ่อนคลายให้มาก โดยอาจจะพักการคิดถึงปัญหาเหล่านั้นก่อน หลังจากหายเครียดแล้วค่อยมาจัดการกับปัญหาใหม่ หรืออาจจะใช้การปรึกษากับคนใกล้ชิด เพื่อขอคำแนะนำหรือคอยช่วยแก้ปัญหาก็ได้
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน เพื่อให้มีพละกำลังและได้รับสารอาหารที่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของทารก
  • หลบปัญหาเป็นครั้งคราว อย่าจมปลักอยู่กับปัญหา อาจมีการระบายความเครียดด้วยการพูดคุยกับเพื่อนหรือสามีถึงปัญหาต่างๆ ก็จะช่วยให้ระบายและลดความเครียด รวมถึงอาจจะช่วยกันแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย
  • ไม่ควรอุ้มเด็กขณะตั้งครรภ์ เพราะนอกจากเป็นอันตายต่อเด็กในครรภ์แล้ว ยังมีผลต่อกระดูกสันหลังของคุณแม่ด้วย

ไปตามตารางนัดของคุณหมออย่างเคร่งครัด

ขอบคุณที่มา babytrick.com

อยากตั้งครรภ์แล้วแต่กินยาคุมกำเนิดมานานต้องเตรียมตัวอย่างไร

สำหรับผู้ที่เคยกินยาคุมกำเนิดมานาน เมื่อถึงเวลาที่พร้อมที่จะตั้งครรภ์นั้น หลายคนอาจจะส่งสัยว่า หลังจากหยุดกินยาคุมแล้ว สามารถปล่อยให้ตั้งครรภ์ได้เลยหรือไม่ แล้วกินยาคุมมานานจะมีผลอะไรกับการตั้งครรภ์ไหม หรือกินยาคุมมานานจะมีผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบค่ะ


ปล่อยให้ตั้งครรภ์หลังจากหยุดกินยาคุมกำเนิดได้หรือไม่
หลังจากที่คุณหยุดกินยาคุมกำเนิดแล้วยังไม่แนะนำให้ปล่อยให้ตั้งครรภ์ทันที ควรจะปล่อยให้ผ่านไปสัก 3 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ระหว่าง 3 เดือนนี้ก็ควรจะคุมกำเนิดด้วยวิธีการอื่นๆ แทน ซึ่งในช่วง 1-2 เดือนแรก คุณอาจจะไม่มีประจำเดือนก็ไม่ต้องตกใจนะค่ะเพราะคุณไม่ได้ตั้งครรภ์หรอกค่ะ เพียงแต่หลังจากหยุดกินยาคุมกำเนิดแล้ว ประจำเดือนอาจจะมาล่าช้ากว่าเดิม เมื่อประจำเดือนเริ่มมาเป็นปกติ (ประจำเดือนเริ่มมาเป็นปกติ 3 เดือนขึ้นไป) ค่อยปล่อยให้ตั้งครรภ์ตามธรรมชาติค่ะ ระหว่างนี้ก็คงต้องให้ว่าที่คุณพ่อมือใหม่คุมกำเนิดตัวเองไปก่อน (แนะนำว่าให้ใช้ถุงยางอนามัยไปก่อนช่วงนี้)

กินยาคุมกำเนิดมานานๆ จะตั้งครรภ์ยากจริงไหม
ถ้าเป็นการกินยาคุมกำเนิดสมัยก่อน หากกินนานๆ จะมีผลทำให้ผนังมดลูกบาง ทำให้การตั้งครรภ์ (การฝังตัวอ่อน) เป็นไปได้ยาก อันนี้จริงค่ะ แต่ถ้าเป็นยาคุมกำเนิดสมัยใหม่เดี๋ยวนี้ปัญหาแบบนี้ไม่เป็นแล้วค่ะ แต่หากคุณใช้ยาคุมฉุกเฉินบ่อย อันนี้มีผลต่อการตั้งครรภ์จริงค่ะ ดังนั้นหากคุณกินยาคุมกำเนิดแบบธรรมดา (21 หรือ 28 เม็ด) มานาน ก็ไม่ต้องกังวลไปนะค่ะว่าจะตั้งครรภ์ยาก

กินยาคุมกำเนิดมานานๆ จะมีผลต่อทารกในครรภ์ไหม
อันนี้เป็นอีกคำถามที่อยู่ในหัวของว่าที่คุณแม่มือใหม่ทุกคน และคงจะกังวลมากๆ เวลาที่จะเริ่มปล่อยให้ตั้งครรภ์ ความจริงแล้วการกินยาคุมกำเนิดนั้น หากเราหยุดกิน (หลังจากกินหมดแผงอย่างถูกต้อง) แล้วปล่อยระยะไว้ 3 เดือนขึ้นไป รอให้ประจำเดือนมาปรกติตามรอบเดือน แค่นี้ร่างกายของคุณก็พร้อมที่จะตั้งครรภ์แล้วค่ะ

ต้องเตรียมตัวอย่างไรเมื่อพร้อมจะตั้งครรภ์
อย่างที่บอกไปค่ะ หลังจากหยุดกินยาคุมแล้ว เมื่อพร้อมจะตั้งครรภ์ ให้ปล่อยให้ประจำเดือนมาก่อนสัก 3 เดือน จากนั้นค่อยให้ตั้งครรภ์ ส่วนเรื่องการเตรียมตัวก็เหมือนคนทั่วๆ ไปค่ะ คือ การออกกำลังกายให้พอเหมาะ นอนหลับพักผ่อนให้มาก กินอาหารให้ครบ ดื่มน้ำให้มาก และอย่าเครียด ที่เหลือก็อาจจะใช้เครื่องมือเข้าช่วย เช่น ชุดทดสอบวันตกไข่ (ทดสอบจากน้ำปัสสาวะ) หรือถ้าไม่อยากกังวลหรือเครียดขนาดนั้น ก็บอกว่าที่คุณพ่อให้ส่งการบ้านบ่อยๆ ก็ได้นะค่ะ

สรุปแล้ว ความเชื่อที่ว่ากินยาคุมกำเนิดมานานๆ จะตั้งครรภ์ยากนั้น ไม่ถูกต้องทีเดียวค่ะ ถ้าคุณกินยาคุมกำเนิดแบบปกติ ก็แค่หยุดรอให้ประจำเดือนมา 3 เดือนขึ้นไปแล้วค่อยปล่อยตามธรรมชาติ ส่วนความเชื่อที่ว่ากินยาคุมกำเนิดมานานๆ แล้วทารกในครรภ์จะพิการ สมองไม่ดี ฯลฯ อันนี้ก็ไม่เป็นความจริง ดังนั้นสบายใจได้ค่ะ

 ขอบคุณที่มา babytrick.com
 

Most Reading